วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ศาลปะกำ

ศาลปะกำ

 เป็นเสมือนที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ และผีปะกำ ตามความเชื่อของชาวกูย นิยมปลูกสร้างไว้ในชุมชนคุ้มบ้าน หรือที่บ้านของทายาท ฝ่ายบิดา มีลักษณะเป็นเรือนไม้ คล้ายหอสูง มีเสาสี่ต้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ ณ ตำแหน่ง ที่เงาบ้านไม่ตกทับตัวศาลและเงาศาลไม่ตกต้องตัวบ้าน ศาลปะกำใช้เป็นที่เก็บรักษาหนังปะกำ เพื่อความเป็น สิริมงคล และเสี่ยงทายผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ

การเซ่นผีปะกำ จะกระทำโดยหมอช้างอาวุโส เจ้าของบ้านและญาติ พี่น้อง นำของเซ่นไหว้ ไปยังศาลปะกำ จุดเทียนแล้ว อัญเชิญผีปะกำ และวิญญาณบรรพบุรุษรับเครื่องเซ่นไหว้ พร้อมกับขอพรเพื่อให้มีโชคลาภในกิจการ นั้นๆ ในการเซ่น ผีปะกำ บุคคลอื่นห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด และโดยเฉพาะสตรีห้ามแตะ ต้อง หนังปะกำ เด็ดขาดดังนั้น ผู้เข้าร่วม พิธีจึงต้องนั่งอยู่ที่พื้น ล้อมรอบศาลปะกำ

   

ตามปกติชาวกวยเลี้ยงช้างจะทำ พิธีไหว้ศาลปะกำประจำตระกูลทุกปี  ก่อนออกคล้องช้าง  บรรดาหมอและควาญช้าง จะนำอุปกรณ์เครื่องจับช้าง พร้อมเสบียงทั้งหมดออกจากบ้านไปยังจุดนัดพบโดยพร้อมเพรียงกัน  ทุกคนต้องอยู่กรรมเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ไม่กลับเข้าบ้านอีก  ซึ่งจะมีการเซ่นไหว้ผีปะกำและต้องปฏิบัติตามข้อห้ามอย่างเคร่งครัด  ทบทวนข้อปฏิบัติไม่ให้ตกหล่นด้วยภาษาผี (ภาษาผีปะกำ เป็นภาษาที่หมอและควาญช้างพูดกันขณะอยู่ป่า)  ตรวจสอบตำแหน่งของแต่ละคนให้ถูกต้อง  เวลาทุกคนจะกราบไหว้ระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และนอนหันหัวไปทางครูบาหรือ ปะกำหลวง  ถ้าหมอช้างคนใดหมดความอดทน หรือไม่แน่ใจว่าตนจะแคล้วคลาดขณะอยู่ป่าจะถอนตัวก็ได้  สถานที่ที่ชาวกูยสุรินทร์ใช้ประกอบพิธีสำคัญนี้ คือ บริเวณศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนปัจจุบัน

เวลาเซ่นไหว้  บรรดาหมอและควาญช้างจะนำหนังปะกำมาวางกองรวมกันเป็น 3 กอง คือ หนังปะกำของครูบาอยู่ตรงกลาง เรียกว่า ปะกำหลวง  กองปะกำสดำอยู่ทางขวา  ของหมอเสดียงอยู่ทางซ้าย  แล้วจัดวางเครื่องเซ่นประกอบ  ครูบาหรือปะกำหลวงก็จะเริ่มพิธีเซ่นไหว้   และมีการอธิษฐานเสี่ยงทายโดยใช้คางไก่  เมื่อเดินทางถึงชายป่าก็จะมีพิธี "เบิกไพร"  เป็นพิธีเปิดป่า  หมอเฒ่าบางท่านเล่าว่า  หากเซ่นไม่ดีพลีไม่ถูก  ป่าจะไม่เปิด  ลักษณะป่าปิด คือ อากาศมืดครึ้ม  ฝนตกหนัก  ไม่มีแสงอาทิตย์  ไม่เห็นสัตว์ป่า  ไม่พบรอยเท้าสัตว์  จำทิศทางไม่ได้  พิธีนี้เป็นการของอนุญาตเจ้าป่าเจ้าเขาและขอช้างตัวงาม ๆ

 

เมื่อเดินทางเข้าป่าลึกพอสมควร  ครูบาจะเลือกชัยภูมิที่เหมาะสม  มีน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์เป็นที่ตั้งค่าย  โดยปลูกเป็นปะรำหรือเพิง  มีความแข็งแรงพอสมควร  แต่ละคนอยู่ในทิศทางและทำพิธีที่ถูกต้องตามตำราคชศาสตร์  ก่อกองไฟขึ้น 3 กอง  เป็นกองไฟศักดิ์สิทธิ์  กองตรงกลางเรียก กำพ้วดเจิง  เป็นกองไฟของครูบา  กองทางซ้ายเรียก กำพ้วดเสดียง  เป็นกองไฟของหมอเสดียง

 

นอกจากนี้ยังมีพิธี ปะสะ  เป็นพิธีล้างมลทินหรือล้างบาป  ในกรณีผู้ประพฤติละเมิดข้อห้ามก่อนได้ฤกษ์จับช้าง  โดยครูบาจะเป็นผู้ประกอบพิธีแก่ผู้ทำผิด  โดยมีเครื่องสะเดาะเคราะห์และต้องเสียเงินค่าปรับ  หากหมอหรือควาญทำผิดข้อละเมิดข้อใดข้อหนึ่ง จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในการจับช้างเป็นอันขาด  เว้นเสียแต่จะได้รับการล้างมลทินแล้ว


    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น